สำนักงาน ก.ล.ต.กางแผน 3 ปี ลุยสร้างตลาดทุนดิจิทัล ส่งเสริมศัยภาพเศรษฐกิจของประเทศ หวังใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมไปพร้อมกับการคุ้มครองผู้ลงทุน
นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยแผนยุทธศาสตร์สำนักงาน ก.ล.ต.ในระยะ 3 ปีนี้ (2565-2567) ว่า ก.ล.ต.วางเป้าหมายเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขัน (Competitiveness) เสริมสร้างการมีส่วนร่วม (Inclusiveness) และเสริมสร้างความน่าเชื่อถือและความเชื่อมั่น (Trust and Confidence) ผ่านแผนยถทธศาสตร์ 5 ด้าน ได้แก่
1. ตลาดทุนเป็นกลไกสำคัญในการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยให้เข้มแข็ง โดยมีแผนสร้างระบบนิเวศ (Ecosystem) ที่เอื้อต่อการระดมทุนของกลุ่มธุรกิจเป้าหมายของประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจ BCG กลุ่มธุรกิจ 12 อุตสาหกรรมเป้าหมายที่จะสนับสนุนการเติบโตใหม่ (New S-curve) รวมถึงธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) และสตาร์ทอัพ (Startups)
2. การเป็นตลาดทุนดิจิทัลเพื่อส่งเสริมศักยภาพเศรษฐกิจของประเทศ โดยสำนักงาน ก.ล.ต.สนับสนุน และมองว่าดิจิทัลจะเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนตลาดทุนไทยภายใต้ 3 มิติ ได้แก่ 1) การพัฒนาระบบนิเวศ และการใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมและเทคโนโลยี (Digital Assets) เพราะเป็นประเด็นสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศ ตั้งแต่การปรับปรุงฉากทัศน์ การกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัลเพื่อยกระดับการคุ้มครองผู้ลงทุน รวมถึงการส่งเสริมผู้ประกอบการ
นอกจากนี้ ก.ล.ต. ได้จัดทำแผนพัฒนา และแนวทางกำกับดูแลตลาดทุนบนโลกเสมือนจริง (Virtual Capital Market) เช่น เมตาเวิร์ส (Metaverse)
2) การนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาส่งเสริมการพัฒนาและการกำกับดูแลตลาดทุน (Tech-led Supervision) เพื่อการเปิดเผยและการเชื่อมโยงของข้อมูล การนำดิจิทัลเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการบังคับใช้กฎหมาย รวมถึงยกระดับการติดตามตรวจสอบความเสี่ยงของผู้ประกอบธุรกิจในตลาดทุน และ
3) การยกระดับการกำกับดูแลความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์และรักษาความปลอดภัยของข้อมูลในตลาดทุน (Cyber and Data) ซึ่งต้องขอบคุณทุกภาคส่วนในตลาดทุนที่ให้ความร่วมมือกับ ก.ล.ต.เป็นอย่างดี เพื่อให้มั่นใจว่าตลาดทุนไทยทุกภาคส่วนพร้อมรับมือและสร้างความปลอดภัยทางไซเบอร์และความปลอดภัยของข้อมูลในภาคตลาดทุน
ทั้งนี้ เป้าหมายที่ 2 เป็นเป้าหมายที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง โดยคณะกรรมการ (บอร์ด) ก.ล.ต. ให้น้ำหนักเป้าหมายด้านตลาดทุนดิจิทัลสูงกว่าประเด็นอื่นๆ
3. การยกระดับศักยภาพตลาดทุนเพื่อความยั่งยืน ซึ่งเป็นหัวข้อสำคัญในการนำพาองคาพยพของตลาดทุนไทยไปสู่ความยั่งยืน การยกระดับการส่งเสริมความยั่งยืน (ESG) ให้ทัดเทียมกับมาตรฐานสากล รวมถึงการผลักดัน ESG ให้เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการทำงาน (ESG Integration) ของผู้ประกอบธุรกิจ
4. ตลาดทุนมีระบบนิเวศที่เหมาะสม ยืดหยุ่นตอบสนองได้อย่างรวดเร็ว เพื่ออำนวยต่อการพัฒนาและกำกับดูแลให้สอดรับกับฉากทัศน์ที่เปลี่ยนแปลงไป พร้อมเชื่อมโยงและเป็นที่ยอมรับในสากล โดยมองว่า ก.ล.ต.ไม่สามารถดำเนินการได้เพียงลำพัง และต้องทำงานร่วมกับทุกภาคส่วน ทำงานแบบมีส่วนร่วมและรับฟัง เพื่อร่วมกันคิดและร่วมกันพัฒนา
สำหรับแนวดำเนินการ โดยหลักเป็นเรื่องของการศึกษาเพื่อกำหนดทิศทางการพัฒนาธุรกิจหลักทรัพย์ การตรวจสอบความเสี่ยงให้เท่าทันกับฉากทัศน์ที่เปลี่ยนแปลงไป และการเชื่อมโยงกับต่างประเทศ ยกระดับและส่งเสริมผลิตภัณฑ์ข้ามประเทศ (Cross-border Product) รวมถึงร่วมมือกับผู้กำกับดูแลในต่างประเทศ เพื่อให้มาตรการของ ก.ล.ต.สอดรับกับระดับสากล และ
5. ผู้ลงทุนมีศักยภาพในการสร้างสุขภาพทางการเงินที่ดี โดยดำเนินการให้ประชาชนเข้าถึงตลาดทุนเพื่อสร้างความมั่งคั่งได้อย่างเหมาะสม ตอบโจทย์ความต้องการที่ดี โดยปัจจัยสำคัญที่ดำเนินการร่วมกับทุกภาคส่วน คือ การเสริมสร้างความรู้ในตลาดทุน (Financial Literacy) รวมถึงการสร้างความรู้ความเข้าใจด้านเทคโนโลยีด้วย เพื่อให้ประชาชนมีเกราะกำบังป้องกันตนเองได้
“จากเป้าหมายทั้ง 5 ด้าน จะเห็นว่าเราดำเนินแผนยุทธศาสตร์ของ ก.ล.ต. คำนึงทุกมิติที่สำคัญ เพื่อให้มั่นใจว่าจะบรรลุ 3 เป้าหมายหลัก คือ ความสามารถในการแข่งขัน การมี Inclusiveness และการสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้น โดยหวังว่าตลาดทุนไทยจะสามารถพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทยให้เข้มแข็งและเติบโตอย่างยั่งยืน”
อ้างอิง
https://www.bangkokbiznews.com/business